ผู้เขียน | ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว |
---|
ไก่ฟ้าหน้าเขียว 1 ใน 100 นกไทยในตำนาน
นกไทยกว่า 1,055 ชนิด ไก่ฟ้า 5 ชนิดนับเป็นสีสันของป่าดิบในบ้านเรา แต่ละชนิด อาทิ ไก่ฟ้าพญาลอ นกประจำชาติไทย ไก่ฟ้าหลังขาว ไก่ฟ้าหางลายขวาง ล้วนมีสีสันและลวดลายของชุดขนสดใสสะดุดตา ชวนให้หันมามองซ้ำหากกวาดสายตาผ่านไปอย่างไม่ตั้งใจ และแทบทุกชนิดล้วนหาชมได้ยาก เพราะอาศัยอยู่บนพื้นป่าดิบชื้น ซึ่งปัจจุบันถูกคุกคาม เพราะการทำลายป่าอย่างต่อเนื่องในอดีต
ไก่ฟ้าหน้าเขียว Crested Fireback (Pheasant) 1 ในบรรดาไก่ฟ้าไทย 5 ชนิด เป็นไก่ฟ้าหายากใกล้สูญพันธุ์ แพร่กระจายพันธุ์ในคาบสมุทรไทยมลายู ตั้งแต่เขตตะนาวศรีในประเทศเมียนมา ภาคใต้ของประเทศไทย ประเทศมาเลเซีย เกาะสุมาตรา และบอร์เนียว ด้วยภัยรูปแบบเดียวกัน 2 ประการ กอปรด้วยการล่าเป็นอาหารหรือขายเป็นสัตว์เลี้ยง และถิ่นอาศัยถูกทำลายลดลงอย่างรวดเร็ว ไก่ฟ้าหน้าเขียวจึงตกอยู่ในภาวะ ใกล้ถูกคุกคามระดับโลก (Near-threatened)
ไก่ฟ้าหน้าเขียวเป็นนกในวงศ์ไก่ฟ้า Phasainidae ที่มีลักษณะของชุดขนร่วมกันคือ เพศผู้จะมีชุดขนสวยงาม และขนาดใหญ่กว่าเพศเมีย เป็นไก่ฟ้าขนาดกลาง ที่มีจุดเด่น 3 ประการประจำสกุล Lophura ได้แก่ ตะโพกมีขนสีแดงหรือน้ำตาลแดง คล้ายเปลวเพลิง (จึงเป็นที่มาของชื่ออังกฤษว่า Fireback) กระหม่อมมีขนหงอนยาวตั้งชูชัน และใบหน้ามีผิวหนังเปลือยสีสดใส ขนาดลำตัว วัดจากปลายจะงอยปากจรดปลายขนหาง ระหว่าง 56-73.5 ซม. ชื่อวิทยาศาสตร์ Lophura ignita แปลว่า ไก่มีหงอนและขนหางสีน้ำตาลแดง (อ้างตามชุดขนของไก่ฟ้าหน้าเขียวเพศผู้ สายพันธุ์ที่พบบนเกาะบอร์เนียว อันเป็นการศึกษาเป็นครั้งแรก ส่วนไก่ฟ้าหน้าเขียวสายพันธุ์ไทย มีขนหางเส้นกลางสีขาวปลอด) ที่มีตะโพกโดดเด่นด้วยสีเปลวเพลิง ส่วนชื่อไทยนั้น คนรุ่นใหม่อาจตะขิดตะขวงใจว่า ไก่ฟ้ามีหนังเปลือยสีฟ้าสดชัดๆ หาใช้สีเขียวแต่ในอดีต รุ่นปู่รุ่นย่าของคนเขียนขึ้นไป ไม่ว่าสีฟ้า สีเขียว สีคราม คนรุ่นก่อนๆ มักจะเรียกรวมๆ ว่า “สีเขียว” จึงเป็นที่มาของ ไก่ฟ้าหน้าเขียว ที่อาจจะค้านสายตาของคนรุ่นใหม่วัยสื่อโซเชียล
ในประเทศไทย ไก่ฟ้าหน้าเขียวจะอาศัยอยู่บนพื้นป่าดิบที่ราบต่ำในภาคใต้ จากการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายโดยสถานีวิจัยสัตว์ป่าคลองแสง และมูลนิธิฟรีแลนด์ พบไก่ฟ้าหน้าเขียวในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าอุทยานเสด็จในกรมหลวงชุมพร ด้านทิศเหนือ (ตอนล่าง) อุทยานแห่งชาติกุยบุรี และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง นอกนั้นแล้ว ความรู้เกี่ยวกับไก่ฟ้าหายาก หรือในวงการดูนกจะเรียกว่า มหาเทพ หรือ mega-rarity นี้จึงน้อยนัก
ข่าวดีข่าวดังจึงเกิดขึ้น เมื่อเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่า ณ จุดสกัดทับอินทนิล เขตอุทยานเสด็จในกรมฯ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร บันทึกภาพไก่ฟ้าหน้าเขียว เพศผู้ จำนวน 1 ตัว ได้เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ.2563 เจ้าพญาระกาหน้าเขียวตัวนี้ เดินออกมาจากป่าทึบ วิ่งไปมาด้วยอาการตื่นกลัวคน บนสนามหญ้ารอบบ้านพักของเจ้าหน้าที่ ณ ที่ทำการจุดสกัดฯ อันเป็นป่าดิบที่ราบต่ำเชื่อมต่อกับเทือกเขาตะนาวศรี ชายแดนประเทศเมียนมา เมื่อ คุณอาทร กำลังใบ หัวหน้าเขตฯ ทราบเรื่องและตระหนักถึงความสำคัญของไก่ฟ้าชนิดนี้ ประกาศอนุญาตให้ประชาชนผู้สนใจเข้าไปชมได้ตามขั้นตอนที่กำหนด เพื่อลดการรบกวนไก่ฟ้า และเป็นไปตามมาตรการป้องกันโรคโควิด-19
ทางคนเขียนทราบข่าวผ่านเพจของเขตฯ บนเฟซบุ๊กในขณะที่อยู่ในภารกิจปล่อยนกเค้าใหญ่พันธุ์สุมาตราคืนธรรมชาติ และสำรวจเหยี่ยวประจำถิ่นอยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าคลองแสง จ.สุราษฎร์ธานี จึงติดต่อขออนุญาตเข้าพื้นที่ไปดูเจ้าพญาระกาชนิดนี้ด้วยตาตนเอง เพราะเป็นทางผ่านกลับบ้านหลังจากเสร็จสิ้นภารกิจในป่าคลองแสง แม้ว่าคนเขียนจะเคยเห็นไก่ฟ้าหน้าเขียวมาแล้วในผืนป่างอหวุ่น เขตตะนาวศรีหรือตะนินธาร์ยี (ตามการออกเสียงของคนกะเหรี่ยง) ในประเทศเมียนมา เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ.2557 ในทริปตามหานกแต้วแร้วท้องดำสายพันธุ์พม่า คราวนั้นได้เจอไก่ฟ้าหน้าเขียวแค่แวบเดียว วิ่งตัดหน้ารถโฟร์วีล บนถนนลำเลียงซุงท่อนใหญ่ๆ ของเขตอิทธิพลกะเหรี่ยง ที่รัฐบาลพม่าอนุญาตให้กองทัพกะเหรี่ยงใช้ประโยชน์จากป่าดิบผืนใหญ่นั้นได้ กระนั้น สำหรับประเทศไทย คนเขียนก็ยังไม่มีวาสนาได้เห็นไก่ฟ้าหน้าเขียวสายพันธุ์ไทยเลย จึงเป็นนกไทยอีกชนิดที่คนเขียนใฝ่ฝัน มีโอกาสได้ชื่นชมความงามของไก่ฟ้าชนิดนี้ที่ธรรมชาติสรรค์สร้างมา
วันที่ 7 กรกฎาคม ศกนี้ จึงได้เดินทางเข้าไปที่จุดสกัดทับอินทนิล ตั้งแต่แปดโมงเช้า ปรากฏว่า เจ้าพญาระกาหน้าเขียวออกมาเดินบนสนามหญ้า ประหนึ่งรอการมาของนักดูนกที่ดั้นด้นมาชื่นชมความงามสง่าของมัน ไก่เดินจิกกินปลายยอดหญ้า สอบถาม คุณมานพ เหมาะดี หัวหน้าจุดสกัดทับอินทนิลได้ความว่า ไก่ตัวนี้เมื่อแรกพบก็แสดงพฤติกรรมกลัวคน วิ่งหนีไปมา แต่ต่อมาอาจจะเพราะความหิว เดินเข้ามาแย่งกินอาหารสำหรับไก่ที่เจ้าหน้าที่เลี้ยงไว้ แล้วกลายเป็นขาใหญ่คุมซอย ไล่ตีไก่เลี้ยง ต้องหนีหายไปหลายตัว
บางตัวเจ้าหน้าที่ต้องจับย้ายออกไปนอกพื้นที่ เพราะกลัวจะบาดเจ็บเพราะฝีมือพญาระกาหน้าเขียว ที่ท่วงท่ายามเยื้องย่างองอาจสมเป็นไก่เถื่อน ที่แม้ไก่ชนที่เลี้ยงไว้ยังต้องหงอ ยอมให้ กาลล่วงมาเดือนกว่า กลายเป็นว่าไก่ฟ้าตัวนี้ไม่กลัวคนเสียแล้ว คนเดินไปทางไหน มันก็เดินตาม หากทำท่าลุกลี้ลุกลน ไก่จะทำท่าข่ม หรือไล่ตีด้วยเดือยที่แข้ง ไม่ต่างจากไล่ตีไก่ชนแม้แต่น้อย ทำให้มีข้อกังขาว่า จริงๆ แล้วเจ้าไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวนี้เป็นไก่เถื่อนตามธรรมชาติ หรือว่าเป็นไก่ฟ้าเลี้ยงที่พลัดหลงมาถึงที่นี่ แต่พฤติกรรมของมันก็ส่อว่าน่าจะเป็นไก่เถื่อน เพราะยามค่ำ ไก่จะเดินหายเข้าไปในป่า ไม่ยอมเกาะคอนนอนใต้ถุนบ้านพัก อันเป็นนิสัยของไก่เลี้ยง เช้ามาก็เดินออกมาจากป่า มาจิกกินปลายยอดหญ้าและอาหารไก่ เป็นอย่างนี้มานานกว่า 1 เดือนแล้ว
เมื่อสอบถาม รศ.ฟิลลิป ราวนด์ นักปักษีวิทยาผู้เชี่ยวชาญเรื่องนกไทย ที่บังเอิญเดินทางไปดูไก่ฟ้าตัวนี้ด้วย จึงทราบว่า เกือบ 30 ปีที่ผ่านมาที่เขาบันทึกข้อมูลการพบนกไทย ยังไม่มีรายงานว่านักดูนกไทยหรือฝรั่ง พบเห็นไก่ฟ้าหน้าเขียวในธรรมชาติมาก่อน ดังนั้น การพบพญาระกาหน้าเขียวตัวนี้จึงนับเป็นรายงานครั้งสำคัญใน 2-3 ทศวรรษสำหรับวงการดูนกไทย ไม่ว่าจะเป็นไก่เถื่อนหรือไก่เลี้ยง
เมื่อนักดูนกได้เห็นมันใช้ชีวิตอย่างอิสระเสรีตามธรรมชาติ ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี ยิ่งถ้าในอนาคต สามารถพิสูจน์ หรือปรากฏหลักฐานทางพฤติกรรมยืนยันได้ว่าไก่ฟ้าหน้าเขียวตัวนี้เป็นไก่เถื่อนจริงๆ แต่อาจจะแค่โดนไก่ฟ้าตัวอื่นที่แข็งแรงกว่าไล่ตีมาอาศัยอยู่ในพื้นที่ตามลำพัง ก็นับเป็นข้อมูลยืนยันการพบไก่ฟ้าจากการสำรวจด้วยกล้องดักถ่ายอีกชั้นหนึ่งด้วย
ไม่ว่าหวยจะออกว่า พญาระกาหน้าเขียวตัวนี้จะเป็นไก่เถื่อนหรือไม่ ในฐานะนักดูนก ได้เห็นไก่ฟ้างามๆ ใช้ชีวิตในธรรมชาติอย่างปลอดภัยจากการล่าของคนได้ ก็นับว่าสุขใจแล้ว
ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว
คณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์
"นก" - Google News
July 13, 2020 at 10:13AM
https://ift.tt/2DCzEBJ
ไก่ฟ้าหน้าเขียว 1 ใน 100 นกไทยในตำนาน : ผศ.นสพ.ดร.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว - มติชน
"นก" - Google News
https://ift.tt/3eM4d50
Home To Blog
No comments:
Post a Comment